Last updated: 3 ส.ค. 2567 | 54 จำนวนผู้เข้าชม |
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คำแปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทั้งหมด
“ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค (คือพระพุทธเจ้า) ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ว่า มีทางตัน 2 ทาง ที่บรรพชิตไม่พึ่งดำเนินคือ
1. การหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ อันเป็นสิ่งเลวทรามเป็นเรื่องของชาวบ้าน ของปุถุชน (คนมีกิเลสหนา)ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์
2. การทรมานตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์ ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ค้นพบทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะเกาะเกี่ยวทางตัน 2 ทางนั้น เป็นทางที่ทำให้มองเห็นและรู้ความจริงอันสูงสุด เป็นไปเพื่อความสงบ ความรู้ยิ่งและความดับกิเลสได้สนิท ทางสายกลางนี้คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ
ทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความดับแค้นใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ไม่ได้ตามปรารถนาโดยสรุป ขันธ์ 5 อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละเป็นทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ คือตัณหา (ความทะยานอยาก) 3 ชนิด ที่เป็นตัวสร้างภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี เป็นตัวทำให้คิดเพลินในเรื่องต่างๆ คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากเป็น) ภวตัณหา (อยากให้สิ่งที่ได้ที่มี ที่เป็น คงอยู่นานๆ) วิภวตัณหา (อยากหนีหรือสลัดทิ้งซึ่งภาวะที่ไม่ชอบใจ)
การดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์แปดได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ
เราเกิดการหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง ความรู้แจ้ง ความสว่างในสิ่งที่เราไม่เคยได้สดับมาก่อนว่า นี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง และทุกข์นี้เราได้รู้แล้ว นี้เหตุเกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์นี้ควรละและเหตุเกิดทุกข์นี้เราละได้แล้ว นี้การดับทุกข์ การดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้งประจักษ์ และการดับทุกข์นี้เราทำให้แจ้งประจักษ์แล้ว นี้ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ควรทำให้เจริญ และทางดับทุกข์นี้เราทำให้เจริญแล้ว
ตราบใดความรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจสี่ อันมี 3 รอบ 12 อาการนี้ ยังไม่ชัดแจ้ง ตราบนั้นเรายังไม่ประกาศยืนยันว่า เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ ต่อเมื่อการรู้เห็นนั้นชัดแจ้ง เราจึงกล้าประกาศยืนยัน ท่ามกลางหมู่สัตว์อันประกอบด้วยสมณะ พราหมณ์ มนุษย์ เทวดา มารและพรหม การรู้เห็นนั้นเกิดขึ้นแก่เราจริง การหลุดพ้นนั้นแท้จริงชาตินี้เป็นหนสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ พระปัญจวัคคีย์ ชื่นชมภาษิตของพระองค์โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” เป็นการรู้เห็นแจ่มกระจ่างว่า
“
สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา”.
เมื่อพระพุทธองค์ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้วเหล่าภุมมเทวดา (เทวดาสถิตอยู่บนพื้นดิน) ร้องบอกต่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้ ไม่ว่าสมณะหรือพราหมณ์มารหรือพรหม แล้วก็บอกต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลก หมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหว ปรากฏแสงสว่างไปทั่วโลกหาประมาณมิได้ ยิ่งกว่าอนุภาพเทวดาบันดาลเสียอีก
พระพุทธองค์ทรงเปล่าอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ”
ดังนั้น โกณฑัญญะจึงได้นามต่อมาว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” (โกณฑัญญะผู้ฉลาด) ด้วยประการฉะนี้แล
เนื้อหาพระสูตรมีแค่นี้ ท่านจึงสังเกตเห็นว่า สาระจริงๆ อยู่ที่ทรงแสดงอริยสัจสี่ครบวงจร นอกจากนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากทรงแสดงจบ
ที่ว่า “การหยั่งรู้อริยสัจสี่ของพระพุทธองค์เป็นการรู้ครบวงจร” คือ รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร (สัจญาณ) รู้ว่าควรจัดการกับมันอย่างไร (กิจญาณ) และรู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ) ขอให้ดูชัดๆ อีกทีเพื่อความกระจ่าง
1. นี้คือทุกข์ (สัจญาณ) – ทุกข์ควรกำหนดรู้ (กิจญาณ) – ทุกข์กำหนดรู้แล้ว (กตญาณ)
2. นี้คือสมุทัย (สัจญาณ) – สมุทัยควรละ (กิจญาณ) – สมุทัยละได้แล้ว (กตญาณ)
3. นี้คือนิโรธ (สัจญาณ) – นิโรธควรทำให้แจ้ง (กิจญาณ) – นิโรธทำให้แจ้งแล้ว (กตญาณ)
4. นี้คือมรรค (สัจญาณ) – มรรคควรทำให้เจริญ (กิจญาณ) – มรรคทำให้เจริญแล้ว (กตญาณ)
สรุปแล้วรู้อริยสัจข้อละ 3 ขั้นตอน รวมเป็น 12 (3 x 4 = 12) นี้แหละที่ท่านว่า “รู้อริยสัจสี่อันมี 3 รอบ 12 อาการ (องค์ประกอบ)” คำ
9 ต.ค. 2567
24 ต.ค. 2567
9 ก.ย. 2567
4 ต.ค. 2567